ศรันย์ ไมตรีเวช

ดังตฤณ เป็นนามปากกาของ “ศรันย์ ไมตรีเวช” เจ้าของบทความธรรมะในหน้านิตยสาร และ หนังสือธรรมะ ทั้งนิยายแทรกคติทางธรรมซึ่งเข้าถึงได้ง่ายสำหรับผู้เริ่มต้นสนใจธรรมะ รวมทั้ง แนวทางการปฏิบัติธรรมเพื่อขัดเกลาชำระจิตใจ ตั้งแต่เริ่มต้นปฏิบัติจนถึงเข้มข้น

ชื่อ “ดังตฤณ” ตฤณ อ่านว่า “ตริน” แปลว่า “หญ้า” ดังตฤณ จึงมีความหมายว่า เหมือนหญ้า หรือ เสมอกันกับหญ้าสักต้นหนึ่ง

เจ้าของนามปากกา “ดังตฤณ” มีชื่อจริงว่า ศรัณย์  ไมตรีเวช ชื่อเล่นที่เรียกกันในบรรดาคนใกล้ชิดสนิทสนมคือ “ตุลย์” 

กำเนิดของนักเขียนท่านนี้ ไม่ปรากฏข้อมูลละเอียด เจ้าของประวัติเคยบอกแค่ปีเกิด คือ    พ.ศ.2510 เท่านั้น  เป็นลูกคนที่สามของครอบครัว

การศึกษา จบปริญาตรีคอมพิวเตอร์ธุรกิจ ( Business Computer ) มหาวิทยาลัยอัสสัมชัน

การทำงาน เริ่มต้นชีวิตการทำงานเป็นโปรแกรมเมอร์ ที่ บริษัท ซอฟท์แวร์เฮาส์ “ไอโซแฟกส์” ก่อนจะเริ่มเข้าสุ่เส้นทางนักเขียน ( จะกล่าวถึงในหัวข้อต่อไป)

ชีวิตครอบครัว สมรสกับแพทย์หญิงณัฐชญา  บุญมานันท์ แพทย์มหาวิทยาลัยขอนแก่น

เส้นทางธรรมะ : ศรันย์ ไมตรีเวช เกิดและเจริญเติบโตมาแบบเด็กทั่วไป ไม่มีวี่แววจะสนใจธรรมะมาก่อน จนกระทั่งเมื่ออยู่ ม.5 ความรู้สึกหนึ่งที่เป็นเสมือน “ฑูตแห่งธรรม” ก็บังเกิดขึ้นในใจเด็กหนุ่ม นั่นคือ ความรู้สึกที่ต้องการแสวงหาคุณค่าของชีวิต เมื่อเกิดคำถามขึ้นในใจว่า ชีวิตที่เหลือยู่ จะอยู่เพื่ออะไร ซึ่งความรู้สึกดังกล่าวก่อตัวมาจากความสับสนในตอนนั้น เช่นเดียวกับเด็กวัยเดียวกันหลายๆคน ที่กำลังค้นหาว่า จะเอนทรานซ์เข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยไหน คณะอะไร แต่ศรันย์คิดไปไกลกว่า ว่าเรียนจบมาแล้วจะทำอะไร และจะใช้ชีวิตต่อไปในแนวไหน

ในเมื่อยังไม่สามารถหาคำตอบให้ตัวเองได้ จนความสับสนเริ่มกลายเป็นความเบื่อ ศรัณย์จึงหาตัวช่วย ด้วยการเข้าห้องสมุด อ่านหนังสือ ด้วยคิดว่า อยากจะหามุมมองหรือแนวคิดที่แปลกใหม่กว่าเดิมมาเติมช่องที่ว่างอยู่ และนั่นเองที่ทำให้เขาพบกับ “เต๋าที่เล่าแจ้ง” หนังสือแนวปรัชญาเชิงศาสนา แปลโดย พจนา จันทรสันติ ที่ศรัณย์บอกว่า อ่านแล้วทำให้รู้สึกชุ่มชื่นขึ้นมา แม้จะยังไม่ทำให้ค้นพบคำตอบของชีวิตที่ตั้งไว้ แต่ก็เหมือนว่าได้ชาร์จแบตให้หัวใจ และเป็นจุดเริ่มต้นให้เขาหันมาสนใจการศึกษาด้านจิตวิญญาณอย่างจริงจัง

ในระหว่างนั้น ศรัณย์ได้มีโอกาสฝึกทำสมาธิ ทั้งแบบโยคะ และในแบบธรรมสมาธิหรือที่เรียกว่า TM ซึ่งเป็นแนวการฝึกแบบอินเดีย โดยการท่องคำบริกรรมเพื่อรวบรวมจิตเป็นสมาธิ ( ทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า เป็น สมถะภาวนา) ซึ่งก็ได้เห็นผลจากการฝึกดีพอสมควร แต่ศรัณย์ก็ยังรู้สึกว่า ยังไม่สามารถตอบโจทย์ชีวิตของเขาได้

ในปีต่อมา เมื่อศรัณย์อยู่ ม.6 เขาเกิดความคิดว่า อยากจะลองฝึกวิปัสสนา ตามที่เขาเคยได้ยินมาว่า เป็นวิธีการนำสู่ความสุขขั้นสูงสุดในทางพระพุทธศาสนา เขาจึงเสาะหาหนังสือสอนปฏิบัติด้านนี้มาเป็น “ครู” จนกระทั่งได้หนังสือ “วิธีทำสมาธิวิปัสสนา” ของ “ธรรมรักษา” ซึ่งเมื่อเขาได้ศึกษาและปฏิบัติตาม ก็พบว่าตรงกับแนวทางสิ่งที่เขาค้นหา จนศรัณย์ยกย่องว่า “ ธรรมรักษา” เป็นครูคนแรกในชาตินี้ของเขาเลยทีเดียว

เมื่อศรัณย์ได้เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัน ศรัณย์ก็ยังคงเข้าห้องสมุด อ่านหนังสือแนวธรรมะอยู่เสมอ โดยเฉพาะหนังสือที่เขาโปรดปรานมากที่สุดคือ “พระไตรปิฎก ฉบับประชาชน”

ดังตฤณตอนบวช

และในปีที่เขาอายุครบบวช ศรัณย์ได้หยุดพักการเรียนมาอุปสมบท และไปปฏิบัติธรรมอยู่กับหลวงพ่อพุธ ฐานิโย แม้จะเป็นช่วงเวลาแค่ 1 – 2 เดือน แต่ก็ทำให้เขาได้เรียนรู้การปฏิบัติธรรมเพิ่มขึ้นอีกไม่น้อยเลย และนั่นก็เป็นเสมือนเสบียงที่เขาเก็บสะสมไว้ จนสามารถแปลงเป็นทุนแห่งปัญญา นำมาถ่ายทอดในรูปแบบของหนังสือธรรมะที่กำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างสูงในขณะนี้

เส้นทางนักเขียน  :  เด็กชายศรันย์ มีอุปนิสัยอยู่อย่างหนึ่งที่เอื้อต่อการเป็นนักเขียนมาตั้งแต่เด็ก คือ มีแรงบันดาลในการถ่ายทอดเรื่องราวที่ตัวเองได้พบ ได้เห็น ได้รู้ หรือแม้กระทั่งได้คิด ให้คนอื่นรู้ด้วย เจ้าตัวเล่าว่า เคยเขียนนิยายอ่านเล่นแจกจ่ายเพื่อนๆอ่านมาตั้งแต่เรียนประถม แม้จะเป็นนิยายแนวน้ำเน่า ประโลมโลก แต่ก็ได้รับความสนใจถึงขึ้นเพื่อนจองคิวยืมอ่าน นั่นคือภาพความสุขอย่างหนึ่งของเขา และกลายเป็นพื้นฐานนิสัยของการเป็น “ผู้ถ่ายทอด”

ต่อมาเมื่อเขาหันมาสนใจธรรมะ งานเขียนของเขาก็เริ่มมีธรรมะเข้ามาแทรกซึมอยู่ด้วย กลายเป็นนวนิยายแนวธรรมะ โดยเรื่องแรกที่ได้รับการตีพิมพ์ คือ เรื่อง ทางนฤพาน ตีพิมพ์ในนิตยสารพ้นโลก เมื่อปี 2533 ว่ากันว่าได้รับความนิยมมาก และคนอ่านส่วนใหญ่เข้าใจว่าผู้เขียนเป็นผู้ทรงภูมิธรรมที่อายุมากแล้ว ทั้งๆที่ตอนนั้นศรัณย์เพิ่งอายุ 22 ปีเท่านั้น 

นิยายธรรมะเรื่องแรก คือ ทางนฤพาน ที่ได้รับการตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2533 และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีนั้น ในอีก 7 ปีต่อมา เพื่อนๆของ “ดังตฤณ” ก็ได้ลงขันกันพิมพ์เป็นรูปเล่มพ็อกเกตบุ๊ค ทั้งขายทั้งแจก ในราคาเล่มละ 99 บาท ปรากฏว่าขายหมดเกลี้ยงในเวลาเพียง 2 เดือน

ผลงานชิ้นอื่นๆหลังจากทางนฤพาน จากปลายปากกา ( หรือคีย์บอร์ด?) ของดังตฤณ ไม่ว่าจะเป็น เสียดาย…คนตายไม่ได้อ่าน  กรรมพยากรณ์  เตรียมเสบียงไว้เลี้ยงตัว  รักแท้มีจริง   มีชีวิตที่คิดไม่ถึง และ ฯลฯ ก็ล้วนแล้วแต่เป็นงานเขียนแนวธรรมะสมัยใหม่ ที่อ่านแล้วเข้าใจง่าย ได้แนวคิด ให้ความรู้สึกดีๆ ที่อ่านแล้วสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริง ซึ่งทุกวันนี้ยังหาอ่านได้อยู่ เพราะผลงานเกือบทุกชิ้นเผยแพร่ฟรีบนโลกอินเตอร์เน็ตในรูปแบบของ E – Book และแอพพลิเคชั่นสำหรับสมาร์ทโฟนและแท็บเลต หรือถ้าใครที่ยังหลงใหลการอ่านหนังสือแบบเป็นเล่ม ก็มีการรวมเล่มให้หาอ่านกันได้ตามร้านหนังสือ

นอกจากนี้ ผลงานของ “ดังตฤณ” ยังได้รับการเผยแพร่ในรูปแบบของมัลติมิเดียอื่นๆ เช่น หนังสือเสียง คลิปวิดิโอบน Youtube  การตอบปัญหาธรรมผ่านคลื่นวิทยุออนไลน์ ซึ่งก็ถือว่าเป็นกุศโลบายในการเผยแพร่ธรรมให้เข้าถึงคนทุกเพศ ทุกวัย ทุกเวลา ทุกโอกาสได้มากขึ้น

ใครจะคิดว่า จากความสับสน มืดมน และความไม่เข้าใจในชีวิตที่เกิดกับเด็กหนุ่ม “ศรัณย์” ในวันนั้น จะกลายเป็นเส้นทางก่อกำเนิด “ดังตฤณ” นักเขียนผู้สามารถนำเอาหลักธรรมของพระพุทธองค์มาถ่ายทอดสู่คนยุคใหม่ที่อาจจะกำลังอยู่ในสถานการณ์เดียวกับที่ศรัณย์เคยเผชิญมาก่อน จนทำให้คนจำนวนไม่น้อยพบแสงสว่างได้ ต้องขอบคุณเส้นทางมหัศจรรย์เส้นนี้จริงๆ

ผลงานนักเขียน

รักแท้มีจริง

เนื้อหาในหนังสือ

หนังสือเสียง

อ้างอิง : https://www.google.com
            http://idolmanstory.blogspot.com

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น