เจริญ มาลาโรจน์

เจริญ มาลาโรจน์ นามปากกา มาลา คำจันทร์ ปัจจุบันอายุ ๖๒ ปี เกิดวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๙๕ ที่จังหวัดเชียงราย จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ จากโรงเรียนศิริมาตย์เทวี อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย สำเร็จประกาศนียบัตรการศึกษาชั้นต้น จากวิทยาลัยครูเชียงใหม่ ปริญญาตรี ศิลปศาสตรบัณฑิต (การสอนภาษาไทย) คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และปริญญาโทศิลปะศาสตรมหาบัณฑิต  (สาขาจารึกภาษาไทย ) คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เคยเป็นอาจารย์ในภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก่อนจะลาออกมาทำงานเขียนหนังสืออย่างจริงจังตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๒ เป็นต้นมา

 มาลา คำจันทร์ เริ่มเขียนเรื่องสั้นเรื่องแรกใน พ .ศ. ๒๕๑๕ ต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๒๑ เขียนเรื่องสั้นชื่อ “เจ้าที่” ได้รับรางวัลช่อการะเกดจากนิตยสารโลกหนังสือ และได้รับการลงพิมพ์ในหนังสือรวมเรื่องสั้น “วันเวลาที่ผ่านเลย” ร่วมกับนักเขียนคนอื่น มาลา คำจันทร์เขียนนวนิยายเรื่องแรกชื่อ

“หมู่บ้านอาบจันทร์” ขึ้นใน พ .ศ. ๒๕๒๑ หลังจากนั้นก็มีงานเขียนอีกหลายรูปแบบอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน มีนวนิยายเรื่องสั้น นิทาน สารคดีและเรื่องเล่าจากอดีต และเรื่องแปล นวนิยายเรื่อง  “วิถีคนกล้า” ได้รับการสร้างเป็นภาพยนตร์ และเรื่อง “หุบเขากินคน” ได้รับการสร้างเป็นละครโทรทัศน์

งานเขียนของมาลา คำจันทร์ โดดเด่นด้วยสีสันและกลิ่นอายของท้องถิ่น สะท้อนวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี สภาพธรรมชาติ วิถีชีวิต ตลอดจนปัญหาในการดำรงชีวิตของชาวนา ชาวเขาในชนบทภาคเหนือ ซึ่งเกิดจากการศึกษาและค้นคว้าประวัติศาสตร์ ตำนาน นิทานพื้นบ้าน และเรื่องเล่า ต่าง ๆ นำผสมผสานด้วยจินตนาการของผู้เขียนได้อย่างกลมกลืน ผู้เขียนสามารถสะท้อนภาพสังคมได้อย่างเด่นชัดด้วยภาษาที่สละสลวย บางครั้งภาษาโบราณและภาษาถิ่นแทรกอยู่ ทำให้ได้อารมณ์และความรู้สึก มีการนำคำและประโยคมาจัดวางจังหวะลีลาคล้ายบทกวีหรือบทเพลงพื้นเมืองสอดคล้องกับเนื้อเรื่อง บรรยากาศ และตัวละครในด้านเนื้อหามาลา คำจันทร์ จะเน้นย้ำความเชื่อในเรื่องความดีงาม สอดแทรกเรื่องของศีลธรรม คุณธรรม และจริยธรรมรวมทั้งความผูกพันของมนุษย์กับธรรมชาติและสัมพันธภาพระหว่างเพื่อนและบุคคลในครอบครัว ในลักษณะที่ผู้อ่านสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย กล่าวได้ว่าผลงานของมาลา คำจันทร์ เป็นแรงกระตุ้นให้ผู้อ่านซึ้ง ตระหนักถึงคุณค่ามรดกทางวัฒนธรรมของล้านนา และเกิดความสนใจที่จะศึกษาค้นคว้า ประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิตและ ภูมิปัญญาของชาวล้านนา ส่วนวรรณกรรมเยาวชนก็ได้ช่วยเสริมสร้างมโนทัศน์และเจตคติที่ดีแก่เด็กและเยาวชนมาโดยตลอด

นายเจริญ มาลาโรจน์ จึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พุทธศักราช ๒๕๕๖ 

ผลงานนักเขียน

นางถ้ำ

อ้างอิงhttp://www.lannacorner.cmu.ac.th/lanna2016/view.php?id=00165&group=2

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น