ศาสตราจารย์ ปรีดี พนมยงค์ หรืออำมาตย์ตรี หลวงประดิษฐ์มนูธรรม เรื่อง กฎแห่งการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่งทั้งหลาย

ประวัติผู้แต่ง

ศาสตราจารย์ ปรีดี พนมยงค์ หรืออำมาตย์ตรี หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (11 พฤษภาคม 2443 – 2 พฤษภาคม 2526) เป็นนักกฎหมาย อาจารย์ นักกิจกรรม นักการเมือง และนักการทูตชาวไทยผู้ได้รับการยกย่องเกียรติคุณอย่างสูง เป็นรัฐบุรุษอาวุโส ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ นายกรัฐมนตรีคนที่ 7 และรัฐมนตรีหลายกระทรวง หัวหน้าสมาชิกคณะราษฎรสายพลเรือน ผู้ประศาสน์การ (ผู้ก่อตั้ง) มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง และเป็นผู้ก่อตั้งธนาคารชาติไทย (ปัจจุบันคือ ธนาคารแห่งประเทศไทย) เขาเกิดในครอบครัวชาวนาที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แต่ได้รับการส่งเสียให้ได้รับการศึกษาที่ดี สำเร็จการศึกษาจากเนติบัณฑิตยสภา และสอบไล่ได้เป็นเนติบัณฑิตตั้งแต่อายุ 19 ปี เป็นนักเรียนทุนศึกษาต่อด้านกฎหมายที่ประเทศฝรั่งเศส จนสำเร็จการศึกษาขั้นดุษฎีบัณฑิต ณ มหาวิทยาลัยปารีส ในปี 2469 เขาเป็นหนึ่งในสมาชิกผู้ก่อตั้งคณะราษฎรในประเทศฝรั่งเศสในปีเดียวกัน จากนั้นเดินทางกลับประเทศเพื่อประกอบอาชีพเป็นผู้พิพากษา ผู้ช่วยเลขานุการกรมร่างกฎหมาย และอาจารย์ผู้สอนวิชากฎหมายปกครอง ณ โรงเรียนกฎหมาย หลังการปฏิวัติสยามในปี 2475 เขามีบทบาทสำคัญในการร่างรัฐธรรมนูญสองฉบับแรกของประเทศ และวางแผนเศรษฐกิจ หลังเดินทางออกนอกประเทศช่วงสั้น ๆ เนื่องจากปฏิกิริยาต่อแผนเศรษฐกิจของเขา เขาเดินทางกลับมารับตำแหน่งรัฐมนตรีหลายกระทรวงในรัฐบาลพระยาพหลพลพยหุเสนาและแปลก พิบูลสงคราม มีบทบาทสำคัญในการปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัย การวางรากฐานการบริหารราชการแผ่นดินโดยเฉพาะราชการส่วนท้องถิ่น การเจรจาแก้ไขสนธิสัญญาไม่เป็นธรรมกับต่างประเทศ ตลอดจนการปฏิรูปภาษี ความเห็นของเขาแตกกับแปลก พิบูลสงคราม เขาได้รับแต่งตั้งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลระหว่างปี 2484 ถึง 2488 และเป็นผู้นำขบวนการเสรีไทยในประเทศช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เขาพยายามบ่อนทำลายความชอบธรรมของประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตรในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. จนฝ่ายสัมพันธมิตรไม่ถือโทษเป็นประเทศผู้แพ้สงคราม หลังสงครามยุติพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ยกย่องในฐานะรัฐบุรุษอาวุโส ความขัดแย้งกับกลุ่มการเมืองอื่นทวีความรุนแรงขึ้น หลังกรณีสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เขาถูกใส่ร้ายจากกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามว่าเป็นผู้บงการทำให้เขาลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสองครั้ง ต่อมาเกิดรัฐประหาร พ.ศ. 2490 เป็นเหตุให้เขาต้องลี้ภัยการเมืองนอกประเทศ ปี 2492 เขากับพันธมิตรทางการเมืองพยายามรัฐประหารรัฐบาลในขณะนั้นแต่ล้มเหลว ทำให้เขาและพันธมิตรหมดอำนาจทางการเมืองโดยสิ้นเชิง จากนั้นเขาลี้ภัยการเมืองในประเทศจีนและฝรั่งเศสโดยไม่ได้กลับสู่ประเทศไทยอีก เขายังแสดงความเห็นทางการเมืองในประเทศไทยและโลกอยู่เรื่อย ๆ จนถึงแก่อสัญกรรมใน พ.ศ. 2526 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส มีการนำอัฐิเขากลับประเทศในปี 2529 และพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานผ้าไตรในพิธีทักษิณานุประทาน อนุสรณ์ของเขาประกอบด้วยวันปรีดี พนมยงค์, สถาบันปรีดี พนมยงค์ ตลอดจนอนุสาวรีย์ และสถานที่และสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ที่ตั้งตามชื่อเขา เขามีภาพลักษณ์ตั้งแต่เป็นนักประชาธิปไตยไม่นิยมเจ้าไปจนถึงผู้นิยมสาธารณรัฐ การถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้บงการปลงพระชนม์พระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเป็นจุดด่างพร้อยในชีวประวัติของเขา และศัตรูเขานำมาใช้โจมตีแม้หลังสิ้นชีวิตไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ในคดีหมิ่นประมาทที่ปรีดีเป็นโจทก์ฟ้องนั้น ศาลยุติธรรมให้เขาชนะทุกคดีเขาเป็นสัญลักษณ์ของผู้ต่อต้านเผด็จการทหาร เสรีนิยม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปี 2542 ยูเนสโกยกให้เขาเป็นบุคคลสำคัญของโลก และร่วมเฉลิมฉลองในวาระครบรอบ 100 ปี ชาตกาล นอกจากนี้ยังได้รับเสนอชื่อเป็นชาวเอเชียแห่งศตวรรษด้วย

เนื้อเรื่อง กฎแห่งการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่งทั้งหลาย

                                                                   บทที่ ๑

                             กฎแห่งการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่งทั้งหลาย

            ๑.๑ สิ่งทั้งหลายในโลกนี้เป็นอนิจจังไม่มีสิ่งใดนิ่งคงอยู่กับที่ทุกสิ่งที่มีอาการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่หยุดยั้ง  สสารวัตถุที่ประกอบขึ้นโดยพลังของธรรมชาติหรือโดยพลังของมนุษย์ซึ่งเรามองด้วยตาเปล่าอาจเห็นว่าไม่เคลื่อนไหวนั้น ความจริงมีการเคลื่อนไหวภายในตัวของสิ่งนั้น ๆ คือสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเปลี่ยนแปลงจากความเป็นสิ่งใหม่ไปสู่ความเป็นสิ่งเก่า

           พืชพันธุ์ รุกขชาติ และสัตวชาติทั้งปวงรวมทั้งมนุษยชาติที่มีชีวิตนั้นเมื่อได้เกิดมาแล้วก็เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงโดยเจริญเติบโตขึ้นตามลำดับ จนถึงขีดที่ไม่อาจเติบโตได้อีกต่อไปแล้วก็ดำเนินสู่ความเสื่อมและสลายในที่สุด

           ชีวิตย่อมมีด้านบวก กับด้านลบ มีส่วนที่เกิดใหม่ซึ่งเจริญงอกงาม กับส่วนเก่าที่เสื่อมซึ่งกำลังดำเนินไปสู่ความสลายแตกดับ ด้านบวกหรือด้านลบหรือสิ่งใหม่กับสิ่งเก่าย่อมโต้อยู่ในตัวภายในของชีวิตนั่นเองซึ่งทำให้ชีวิตมีการเคลื่อนไหว

           ๑.๒ มนุษยสังคม หรือเรียกสั้น ๆ ว่า สังคม  ก็มิอาจหลีกเลี่ยงให้พ้นไปจากกฎแห่งอนิจจังดังกล่าวข้างต้น กล่าวคือ สังคมมีอาการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่หยุดยั้ง สังคมย่อมมีด้านบวกกับด้านลบภายในสังคมนั่นเองคือมีสภาวะใหม่ที่เจริญงอกงาม และสภาวะเก่าที่เสื่อมซึ่งดำเนินไปสู่ความสลายแตกดับ                                                     สังคมของมนุษย์มีพลังใหม่ซึ่งเป็นด้านบวกและมีพลังเก่าซึ่งเป็นด้านลบที่ปะทะกันอยู่อันทำให้สังคมเคลื่อนไหวไปทำนองเดียวกันกับสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลายตามกฎของธรรมชาติพลังเก่าเสื่อมสลายไประบบสังคมของพลังเก่าก็เสื่อมสลายไปด้วยพลังใหม่ที่เจริญเติบโตระบบสังคมของพลังใหม่ก็เจริญเติบโตไปด้วยสภาวะเก่าหลีกเลี่ยงจากความเสื่อมสลายไปไม่พ้นส่วนสภาวะใหม่ก็ต้องดำเนินไปสู่ความเจริญซึ่งพลังเก่าไม่อาจต้านทานไว้ได้ดังนั้นสภาวะใหม่ย่อมได้รับชัยชนะต่อสภาวะเก่าในวิถีแห่งการปะทะระหว่างด้านบวกกับด้านลบตามกฎธรรมชาติ

           สภาวะใหม่ที่ได้ชัยชนะต่อสภาวะเก่านั้น มิอาจรักษาความเป็นสภาวะใหม่ไว้ได้ตลอดกัลปาวสานเพราะสภาวะใหม่นั้นก็ต้องดำเนินไปตามกฎแห่งอนิจจัง คือ เมื่อเติบโตจนถึงขีดที่ไม่อาจเจริญต่อไปอีกแล้วก็ดำเนินเข้าสู่ความเสื่อมโดยมีสภาวะที่ใหม่ยิ่งกว่าเกิดขึ้นมาปะทะและได้ชัยชนะรับช่วงเป็นทอด ๆ ไป

            ๑.๓ ในระยะหัวต่อหัวเลี้ยวระหว่างระบบเก่ากับระบบใหม่นั้น เราอาจเห็นในบางสังคมว่าระบบเก่าที่สลายไปแล้วได้กลับฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีก ทั้งระบบ หรือ ส่วนใดส่วนหนึ่งของระบบ ดูประหนึ่งว่าระบบเก่าหรือส่วนของระบบเก่าจะวกกลับมาตั้งมั่นอยู่ต่อไปและคล้ายกับเป็นวิธีที่แย้งกฎแห่งอนิจจัง

                แต่สิ่งที่ลวงตาเช่นนั้นเป็นเรื่อง ชั่วคราว ตามวิถีแห่งการปะทะในระยะหัวต่อหัวเลี้ยวทั้งนี้ก็เพราะระบบเก่ายังคงมีพลังที่ตกค้างอยู่จึงดิ้นรนตามกฎที่ว่า“ สิ่งที่กำลังจะตายย่อมดิ้นรนเพื่อคงชีพ” การต่อสู้ทำนองนี้อาจเป็นไปได้ หลายยกโดยต่างฝ่ายต่างผลัดกันชนะ ผลัดกันแพ้ ระบบของสังคมในระยะหัวต่อ เช่น นั้นย่อมมีลักษณะปลีกย่อยต่าง ๆที่ได้รับการแก้ไขให้เหมาะแก่สถานการณ์ของฝ่ายชนะ แต่ในที่สุดพลังเก่าพร้อมทั้งระบบก็หลีกเลี่ยงไปไม่พ้นจากกฎแห่งอนิจจังและระบบใหม่ที่ได้ชัยชนะนั้นก็ดำเนินไปตามกฎอันเดียวกันโดยมีระบบที่ใหม่ยิ่งกว่ารับช่วงเป็นทอด ๆ ต่อไปดังที่ปรากฏตาม รูปธรรมของมนุษยสังคมมากหลายในสกลโลก

                เมื่อกล่าวถึง พลังตกค้าง แห่งระบบเก่าเราจำต้องทำความเข้าใจว่าพลังตกค้างนั้นมิใช่บุคคลในวรรณะเก่าเสมอไปเพราะบุคคลในวรรณะเก่าบางคนเป็นผู้ก้าวหน้าที่มองเห็นกฎแห่งอนิจจังถือ เอาประโยชน์ส่วนรวมของสังคมเหนือกว่าประโยชน์ของวรรณะโดยเฉพาะ เป็นผู้ที่มีศีลมีสัตย์ ซึ่งสมควรได้รับความเคารพสรรเสริญ นักปราชญ์ซึ่งเป็นต้นฉบับแห่งวิทยาศาสตร์ทางสังคมสมัยใหม่ กล่าวไว้ตามรูปธรรมที่เห็นจริงว่า

                “ ในที่สุดขณะที่การ ต่อสู้ของวรรณะจวนจะถึงความเด็ดขาดความเสื่อมสลายกำลังดำเนินไปภายในวรรณะปกครอง ที่จริงนั้นคือภายในสังคมเก่าทั้งกระบวนการดั่งว่านั้นรุนแรงและเกรี้ยวกราดจึงมีชนในวรรณะปกครองส่วนน้อยแผนกหนึ่งละทิ้งวรรณะของตน และเข้าร่วม ในวรรณะอภิวัฒน์ ซึ่งเป็นวรรณะที่กุมอนาคตไว้ในมือ ดั่งเช่นเดียวกับในสมัยก่อน ซึ่งส่วนหนึ่งของวรรณะขุนนางได้ไปเข้ากับวรรณะเจ้าสมบัติ (นายทุนสมัยใหม่) ดังนั้นในสมัยนี้ส่วนหนึ่งของวรรณะเจ้าสมบัติก็ไปเข้าข้างวรรณะผู้ไร้สมบัติโดยเฉพาะส่วนหนึ่งของวรรณะเจ้าสมบัติผู้มีปัญญาที่ได้พยุงตนขึ้นสู่ระดับที่เข้าใจทฤษฎีแห่งขบวน   วิวรรตการทั้งปวง”

                    ในทางตรงกันข้ามกับบุคคลที่กล่าวในวรรคก่อนความจริงก็ปรากฏว่า มีบุคคลซึ่งดูเหมือนจะเป็นวรรณะใหม่ แต่ไม่เข้าใจกฎแห่งอนิจจังโดยถือว่าสภาวะเก่าเป็นของถาวรและไม่พอใจในความพัฒนาของสภาวะใหม่ที่ต้องเป็นไปตามกฎธรรมชาติ บุคคลจําพวกนี้อาจไม่ใช่หน่อเนื้อเชื้อไขของวรรณะเก่า     แต่บำเพ็ญตนเป็น สมุนของพลังเก่า ยิ่งกว่าบุคคลแห่งอันดับสูงของวรรณะเก่าทั้งนี้ก็เพราะพลังเก่าที่สลายไปนั้นได้สูญสิ้นไปเฉพาะรูปภายนอกของระบบการเมือง แต่บุคคลเก่ายังแฝงอยู่ในกลไกอำนาจรัฐและอำนาจเศรษฐกิจซึ่งยังคงมีทรรศนะทางสังคมตามระบบเก่าที่ล้าหลังสิ่งตกค้างของระบบเก่าชนิดนี้มีทรรศนะที่ผิดจากกฎธรรมชาติยิ่งกว่าบุคคลก้าวหน้าแห่งวรรณะเก่าเองฉะนั้นจึงดำเนินการโต้กฎธรรมชาติและกฎแห่งอนิจจัง ดึงสังคมให้ถอยหลังเข้าคลองยิ่งกว่าพวกถอยหลังเข้าคลองที่จำต้องเป็นไปตามสภาวะของเขา แต่อย่างไรก็ตามการดึงให้สังคมถอยหลังก็เป็นไปเพียงชั่วคราว เพราะในที่สุดกฎแห่งอนิจจังต้องประจักษ์ขึ้น

ไฟล์เสียง เรื่อง กฎแห่งการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่งทั้งหลาย

https://drive.google.com/file/d/1aaX2UscyUdrsEJqRFOIs2fZY75zO2WRK/view

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น