ศาสตราจารย์ ปรีดี พนมยงค์ หรืออำมาตย์ตรี หลวงประดิษฐ์มนูธรรม เรื่อง รากฐานของสถาบันการเมือง

อนุสาวรีย์ที่มีค่า ของ ปรีดี พนมยงค์

ศาสตราจารย์ ปรีดี พนมยงค์ หรืออำมาตย์ตรี หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (11 พฤษภาคม 2443 – 2 พฤษภาคม 2526) เป็นนักกฎหมาย อาจารย์ นักกิจกรรม นักการเมือง และนักการทูตชาวไทยผู้ได้รับการยกย่องเกียรติคุณอย่างสูง เป็นรัฐบุรุษอาวุโส ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ นายกรัฐมนตรีคนที่ 7 และรัฐมนตรีหลายกระทรวง หัวหน้าสมาชิกคณะราษฎรสายพลเรือน ผู้ประศาสน์การ (ผู้ก่อตั้ง) มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง และเป็นผู้ก่อตั้งธนาคารชาติไทย (ปัจจุบันคือ ธนาคารแห่งประเทศไทย) เขาเกิดในครอบครัวชาวนาที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แต่ได้รับการส่งเสียให้ได้รับการศึกษาที่ดี สำเร็จการศึกษาจากเนติบัณฑิตยสภา และสอบไล่ได้เป็นเนติบัณฑิตตั้งแต่อายุ 19 ปี เป็นนักเรียนทุนศึกษาต่อด้านกฎหมายที่ประเทศฝรั่งเศส จนสำเร็จการศึกษาขั้นดุษฎีบัณฑิต ณ มหาวิทยาลัยปารีส ในปี 2469 เขาเป็นหนึ่งในสมาชิกผู้ก่อตั้งคณะราษฎรในประเทศฝรั่งเศสในปีเดียวกัน จากนั้นเดินทางกลับประเทศเพื่อประกอบอาชีพเป็นผู้พิพากษา ผู้ช่วยเลขานุการกรมร่างกฎหมาย และอาจารย์ผู้สอนวิชากฎหมายปกครอง ณ โรงเรียนกฎหมาย หลังการปฏิวัติสยามในปี 2475 เขามีบทบาทสำคัญในการร่างรัฐธรรมนูญสองฉบับแรกของประเทศ และวางแผนเศรษฐกิจ หลังเดินทางออกนอกประเทศช่วงสั้น ๆ เนื่องจากปฏิกิริยาต่อแผนเศรษฐกิจของเขา เขาเดินทางกลับมารับตำแหน่งรัฐมนตรีหลายกระทรวงในรัฐบาลพระยาพหลพลพยหุเสนาและแปลก พิบูลสงคราม มีบทบาทสำคัญในการปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัย การวางรากฐานการบริหารราชการแผ่นดินโดยเฉพาะราชการส่วนท้องถิ่น การเจรจาแก้ไขสนธิสัญญาไม่เป็นธรรมกับต่างประเทศ ตลอดจนการปฏิรูปภาษี ความเห็นของเขาแตกกับแปลก พิบูลสงคราม เขาได้รับแต่งตั้งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลระหว่างปี 2484 ถึง 2488 และเป็นผู้นำขบวนการเสรีไทยในประเทศช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เขาพยายามบ่อนทำลายความชอบธรรมของประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตรในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. จนฝ่ายสัมพันธมิตรไม่ถือโทษเป็นประเทศผู้แพ้สงคราม หลังสงครามยุติพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ยกย่องในฐานะรัฐบุรุษอาวุโส ความขัดแย้งกับกลุ่มการเมืองอื่นทวีความรุนแรงขึ้น หลังกรณีสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เขาถูกใส่ร้ายจากกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามว่าเป็นผู้บงการทำให้เขาลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสองครั้ง ต่อมาเกิดรัฐประหาร พ.ศ. 2490 เป็นเหตุให้เขาต้องลี้ภัยการเมืองนอกประเทศ ปี 2492 เขากับพันธมิตรทางการเมืองพยายามรัฐประหารรัฐบาลในขณะนั้นแต่ล้มเหลว ทำให้เขาและพันธมิตรหมดอำนาจทางการเมืองโดยสิ้นเชิง จากนั้นเขาลี้ภัยการเมืองในประเทศจีนและฝรั่งเศสโดยไม่ได้กลับสู่ประเทศไทยอีก เขายังแสดงความเห็นทางการเมืองในประเทศไทยและโลกอยู่เรื่อย ๆ จนถึงแก่อสัญกรรมใน พ.ศ. 2526 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส มีการนำอัฐิเขากลับประเทศในปี 2529 และพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานผ้าไตรในพิธีทักษิณานุประทาน อนุสรณ์ของเขาประกอบด้วยวันปรีดี พนมยงค์, สถาบันปรีดี พนมยงค์ ตลอดจนอนุสาวรีย์ และสถานที่และสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ที่ตั้งตามชื่อเขา เขามีภาพลักษณ์ตั้งแต่เป็นนักประชาธิปไตยไม่นิยมเจ้าไปจนถึงผู้นิยมสาธารณรัฐ การถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้บงการปลงพระชนม์พระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเป็นจุดด่างพร้อยในชีวประวัติของเขา และศัตรูเขานำมาใช้โจมตีแม้หลังสิ้นชีวิตไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ในคดีหมิ่นประมาทที่ปรีดีเป็นโจทก์ฟ้องนั้น ศาลยุติธรรมให้เขาชนะทุกคดีเขาเป็นสัญลักษณ์ของผู้ต่อต้านเผด็จการทหาร เสรีนิยม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปี 2542 ยูเนสโกยกให้เขาเป็นบุคคลสำคัญของโลก และร่วมเฉลิมฉลองในวาระครบรอบ 100 ปี ชาตกาล นอกจากนี้ยังได้รับเสนอชื่อเป็นชาวเอเชียแห่งศตวรรษด้วย

ความเป็นอนิจจังของสังคม - ลูกอ๊อดหนังสือเก่า : Inspired by LnwShop.com

เนื้อเรื่อง รากฐานของสถาบันการเมือง

บทที่ ๗

รากฐานของสถาบันการเมือง

                  ๗.๑ กายาพยพหรือนัยหนึ่งร่างกายของสังคมคือสถาบันและระบบต่างๆของสังคมก็ตั้งอยู่บนรากฐานแห่งสภาพความเป็นอยู่ทางชีวปัจจัยของสังคมสถาบันใหญ่น้อยและระบบปกครองของสังคมที่กล่าวกันว่ามีหน้าที่ระงับทุกข์บำรุงสุขของราษฎรนั้นถ้าจะสาวไปถึงรากอันลึกซึ้งก็คือสภาพความเป็นอยู่ทางชีวปัจจัยนั่นเองเพราะความต้องการในการดำรงชีพไม่ว่าทางกายหรือทางใจก็ต้องอาศัยชีวปัจจัยแม้จะ จำกัด ให้น้อยลงได้เพียงใดก็ตามทั้งที่ข้าพเจ้าได้กล่าวมาแล้ว

                  ๗.๒ เราจำต้องทำความเข้าใจเพื่อป้องกันการเอียงจัดเนื่องจากสูตรสำเร็จเพียงแง่เตียวไว้ด้วยว่าการที่สูตรสำเร็จอันหนึ่งกล่าวไว้ว่าเศรษฐกิจเป็นรากฐานการเมืองและระบบการเมืองเกิดมาจากสภาพความเป็นอยู่ทางชีวปัจจัยของสังคมนั้นมีความหมายในการแสดงถึงที่มาของสิ่งเหล่านั้น แต่ความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจกับการเมืองก็ดี หรือระหว่างสภาพความเป็นอยู่ทางชีวปัจจัยกับทางการเมืองก็ดีย่อมมีผลสะท้อนถึงกันคือเมื่อการเมืองต้องเปลี่ยนแปลงไปตามเศรษฐกิจหรือตามสภาพความเป็นอยู่ทางชีวปัจจัยในขณะใดขณะหนึ่งแล้วสถาบันและระบบการเมืองใหม่ก็ก่อให้เกิดสภาพที่ทำให้สังคมพัฒนาต่อไปใหม่เช่นสถาบันและระบบการเมืองซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ ได้ก่อให้เกิดสภาพที่เปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์การผลิตหลายอย่างดังที่กล่าวมาแล้วในตอนต้นการเปลี่ยนแปลงสถาบันและระบบการเมืองในสังคมอื่นก็ทำนองเดียวกันที่ก่อให้เกิดสภาพอันสะท้อนไปถึงสภาพแห่งความเป็นอยู่ทางชีวปัจจัยอันเป็นรากฐานไม่มีการอภิวัฒน์ใดที่จะเปลี่ยนความสัมพันธ์การผลิตได้ในทันใดทุกอย่างแม้การอภิวัฒน์นั้นจะได้รับยกย่องว่าก้าวหน้าที่สุด แต่ก็ต้องใช้เวลาเปลี่ยนแปลงโดยอาศัยสภาพใหม่นั้น

                   ๗.๓ สภาพความเป็นอยู่ทางชีวปัจจัยของสังคมเป็นอย่างไรสถาบันและระบบของสังคมก็เป็นเช่นนั้นกล่าวคือ

                  (๑) ในสังคมแห่งระบบปฐมสหการซึ่งสมาชิกแห่งสังคมมีความเป็นอยู่ร่วมกันฉันพี่น้องระบบสังคมก็เป็นไปในลักษณะของสามัคคีธรรมภายในครอบครัวคือไม่จำเป็นต้องมีอำนาจรัฐประมุขแห่งสังคมเป็นบุคคลที่สมาชิกแห่งสังคมยกย่องนับถือประดุจเป็นพ่อแม่ที่คอยดูแลความผาสุกของสมาชิกทั้งปวงโดยไม่ต้องใช้อำนาจบังคับกดขี่

                  (๒) ในสังคมแห่งระบบทาสซึ่งบุคคลส่วนน้อยในสังคมที่เป็นเจ้าทาสมีสิทธิใช้ให้คนส่วนมากในสังคมทำงานเหมือนสัตว์พาหนะนั้นระบบสังคมก็ต้องเป็นระบบที่เจ้าทาสมีอำนาจรัฐอย่างสมบูรณ์ที่สามารถบังคับกดขี่ทาสให้ ทํางานได้

                  (๓) ในสังคมแห่งระบบศักดินาซึ่งแม้เจ้าศักดินาจะได้ลดความกดขี่สมาชิกแห่งสังคมให้น้อยลงกว่าระบบทาสก็ดี แต่เจ้าศักดินาก็ยังมีความจำเป็นที่จะต้องมีอำนาจรัฐเพื่อบังคับคนส่วนมากในสังคมให้ทำงานสถาบันและระบบสังคมศักดินาจึงเป็นไปตามอำนาจรัฐนั้น

                  (๔) ในสังคมแห่งระบบ ธ นานุภาพซึ่งแม้เจ้าสมบัติจะสามารถใช้ปัจจัยการผลิตของสังคมใช้ให้คนส่วนมากในสังคมทำงานโดยมีค่าจ้างก็ตาม แต่เจ้าสมบัติก็ยังมีความจำเป็นที่จะต้องมีอำนาจรัฐในการบังคับให้เป็นไปตามความต้องการของตนสถาบันและระบบสังคม ธ นานุภาพจึงเป็นไปตามอำนาจรัฐนั้น                      

                 (๕) ในบางสังคมที่เข้าสู่ระบบสังคมกิจ (สังคมนิยม) นั้นแม้ในทางนิตินัยจะไม่มีวรรณะเนื่องจากไม่มีฐานะและวิถีดำรงชีพแตกต่างกันระหว่างสมาชิกของสังคมทางหลักการก็ดี แต่นักปราชญ์วิทยาศาสตร์ทางสังคมก็กล่าวไว้ว่าซากแห่งความเคยชินและทรรศนะเก่ายังคงมีค้างอยู่อีกกาละหนึ่งฉะนั้นราษฎรส่วนมากในสังคมก็ยังมีความจำเป็นที่จะต้องใช้อำนาจรัฐในระหว่างกาละนั้นสถาบันระบบสังคมกิจจึงเป็นไปตามอำนาจรัฐนั้น

                 ๗.๔ ตามที่กล่าวมาแล้วในข้อ ๗.๓ ข้างต้นนี้ผู้อ่านย่อมเห็นได้ว่าอำนาจรัฐเป็นเครื่องมือของวรรณะที่ปกครองในสังคมที่สมาชิกแบ่งออกเป็นวรรณะต่าง ๆ สถาบันและระบบสังคมซึ่งจะประกอบด้วยอำนาจรัฐหรือไม่ก็ดียอมเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพแห่งความเป็นอยู่ทางชีวปัจจัยที่เป็นรากฐาน

                  จริงอยู่ในทางนิตินัยอาจกล่าวกันว่าอำนาจรัฐเป็นของสมาชิกทั้งหลายแห่งสังคม แต่ในทางพฤตินัยสมาชิกแห่งสังคมผู้ถืออำนาจรัฐก็คือวรรณะที่ปกครองสังคมซึ่งใช้อำนาจรัฐเพื่อประโยชน์แก่วรรณะของตนยิ่งกว่าเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของสังคมดังนั้นการแบ่งอำนาจรัฐออกเป็นสามส่วนตามทฤษฎีของมองเตสกิเออร์ชาวฝรั่งเศสซึ่งเป็นแบบฉบับของระบบรัฐธรรมนูญมากหลายคือการแบ่งออกเป็นอำนาจนิติบัญญัติบริหารและตุลาการนั้นเป็นเรื่องจำแนกกลไกแห่งอำนาจรัฐออกเป็นสามส่วนใหญ่ ๆ คล้ายกับการแบ่งกระทรวงทบวงกรมนั่นเองเพราะปัญหามิได้อยู่ที่ตัวอักษรและสถาบันที่เป็นนามธรรม แต่อยู่ที่บุคคลผู้มีอำนาจใช้กลไกนั้น และที่เป็นตัวกลไกนั้นว่าจะเป็นวรรณะใดหรือเป็นสมุนหรือซากของวรรณะใดความเป็นธรรมสำหรับสังคมอาจมีได้ในกรณีที่สมาชิกแห่งสังคมที่พิพาทกันเป็นคนแห่งวรรณะอื่นด้วยกัน แต่ถ้าเป็นเรื่องพิพาทระหว่างคนในวรรณะหนึ่งกับคนในวรรณะเดียวกับผู้ถือกลไกหรือเป็นกลไกแห่งอำนาจรัฐแล้วความเป็นธรรมก็เกิดขึ้นยากเว้นแต่ผู้ถือกลไกหรือเป็นกลไกนั้นจะทรงไว้ซึ่งพรหมวิหารอย่างแท้จริง แต่มนุษย์ปุถุชนยังมีกิเลสตามวรรณะหรือตามที่ปุถุชนนั้นเป็นสมุนของวรรณะ

ไฟล์เสียงเรื่อง รากฐานของสถาบันการเมือง

https://drive.google.com/file/d/1b3MU9u0w68StIIKc6FWuI-kkWqaHoe2n/view

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น