กนกพงศ์ สงสมพันธุ์

ประวัติของ กนกพงศ์ สงสมพันธุ์

กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ เกิดเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2509 ที่บ้านจันนา อ.ควนขนุน จ.พัทลุง เป็นบุตรของนายวณิช นางยุพา สงสมพันธุ์ เรียนที่วัดไทรโกบ อ.ควนขนุน จนจบ ป.4 แล้วจึงไปเรียนต่อที่โรงเรียนวัดพิกุลทอง อ.เมืองพัทลุง จนจบ ป.7 จากนั้นศึกษาต่อระดับมัธยมศึกษาที่ โรงเรียนพัทลุง อ.เมืองพัทลุง จนจบ ม. 6 เอนทรานซ์เข้าเรียนต่อได้ที่คณะวิทยาการจัดการ (เอกคอมพิวเตอร์ธุรกิจ) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เรียนอยู่ระยะหนึ่งและสอบเข้าศึกษาในคณะเดิม                                 (เอกรัฐประศาสนศาสตร์)อยู่ 3 ปี จึงตัดสินใจออกจากมหาวิทยาลัยเพื่อเขียนหนังสือ

ใฝ่ฝันอยากเป็นกวี-นักเขียนมาตั้งแต่วัยเยาว์ ด้วยเติบโตมาจากกองหนังสือของพ่อวนิช      สงสมพันธุ์ ในบ้านมีหนังสือมากมายให้เลือกอ่าน เช่น ชัยพฤกษ์,วิทยาศาสตร์-มหัศจรรย์,วิทยาสาร,ขวัญเรือน เป็นต้น ไปจนถึงนวนิยายยอดนิยมยุคนั้น อย่างเช่น “ร้อยป่า” ของ อรชร พันธุ์บางกอก แม้กระทั่งแนวกุ๊กกิ๊ก “นิยายรักนักศึกษา” ของ “ศุภักษร” ตลอดจนนวนิยายเพื่อประชาชนอย่างเช่น “ฟ้าบ่กั้น” ของ ลาว คำหอม, “ปีศาจ” ของ เสนีย์ เสาวพงศ์, “จนกว่าเราจะพบกันอีก” ของ “ศรีบูรพา”, “ตึกกรอสส์” ของ “อ.อุดากร” เป็นต้น

โดยเฉพาะหนังสือ 3 เล่มที่ทำให้อยากเขียนบทกวี คือ “ก่อนไปสู่ภูเขา” ของ สถาพร ศรีสัจจัง, “ทางเลือกเมื่อฟ้าหม่น” ของ คมสัน พงษ์สุธรรม และ “ในอ้อมกอดของภูผา” รวมบทกวีและเรื่องสั้นของ สำราญ รอดเพชร

          แต่นั่นก็ยังไม่สำคัญเท่ากับหนังสือ “ถนนนักเขียน” อัตชีวประวัตินักเขียนชาวอเมริกัน เออร์สกิน คอลด์เวลล์ ที่ทำให้หัวใจของเด็กหนุ่มร้อนรุ่ม และไปใช้ชีวิตเขียนหนังสือเงียบ ๆ ในป่าเขาอย่างคอลด์เวลล์ในที่สุด

          กนกพงศ์ไปฝึกเขียนหนังสืออยู่กับ ธัช ธาดา นักเขียน-กวีในกลุ่มนาคร ทุกวันแต่เช้าตรู่ นักเขียนหนุ่มจะตรึงตัวเองอยู่กับโต๊ะเขียนหนังสือฝึกฝนการเขียนไปจรดค่ำทุกวัน ๆ ตามแบบอย่างคอลด์เวลล์ โดยมีพี่ ๆ เช่น สมใจ สมคิด, อัตถากร บำรุง และ เกษม จันดำ คอยช่วยวิพากษ์วิจารณ์ในตอนเช้าของอีกวัน  

          นักเขียนฝึกหัดจะนั่งฟังคำวิจารณ์อย่างใจจดจ่อและเคร่งเครียด ด้วยรู้ดีว่า เขาจะไม่ได้รับการประนีประนอมจากพี่ ๆ แม้แต่น้อยนิด ซ้ำกลับถูกโบยตีอย่างหนักหน่วงด้วยคำวิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา 

กนกพงศ์ให้สัมภาษณ์นิตยสาร “ไฮ-คลาส” ว่า ช่วงฝึกเขียนนั้นเขียนทิ้ง ๆ ทุกวัน แล้วแต่ว่าจะฝึกลักษณะไหน “อย่างเช่นว่าถ้าฝึกบรรยายฉาก ผมจะตั้งประเด็นขึ้นมา แล้วก็ฝึกบรรยายฉากไป แล้วก็ทิ้ง ฝึกภาษาเขียนภาษาให้มันสวย ฝึกตัวละครก็สร้างตัวละครขึ้นมาแล้วบรรยายตัวละคร ฝึกการวางพล็อตเรื่องผมก็จะสร้างพลอตขึ้นมา”

นักเขียนหนุ่มฝึกเขียนอย่างมุ่งมั่นนับร้อยชิ้น ก่อนจะลงมือเขียนเรื่องสั้นอย่างจริง ๆ จัง ๆ ในปีต่อมา และเริ่มส่งตามนิตยสารต่าง ๆ 

ระหว่างปี 2531-2533 กนกพงศ์เป็นเจ้าของสถิตินักเขียนผู้มีเรื่องสั้นตีพิมพ์ในหน้านิตยสารมากสุด ทั้งยังเป็นนักเขียนที่สร้างปรากฎการณ์ให้วงวรรณกรรมไทยด้วยเรื่องสั้นที่มีขนาดยาวกว่า “ขนบ” ทั่วไป เหนือไปกว่านั้น ยังได้รับประดับ “ช่อการะเกด” จาก “บ.ก.เครางาม” สุชาติ สวัสดิ์ศรี ถึง 2 ปีซ้อน จากเรื่องสั้น “สะพานขาด” ปี 2532 และ “โลกใบเล็กของซัลมาน” ในปี 2533  

เมื่อเริ่มมีชื่อเสียงทางเรื่องสั้น กนกพงศ์เข้าทำงานกับสำนักพิมพ์เคล็ดไทย ทำตั้งแต่จัดอาร์ตเวิร์คและบรรณาธิการ 2 ปีให้หลังก็ลาออก เพราะเห็นว่าถูกงานประจำดูดกลืนความคิดและเวลาในการเขียนหนังสือไปเสียหมด จึงหวนคืนสู่อ้อมกอดภูเขาอีกครั้ง   

กนกพงศ์ เกิดและเติบโตขึ้นมาในยุคที่มีความขัดแย้งทางการเมืองในพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะแถบเทือกเขาบรรทัดอันเป็นถิ่นกำเนิด เป็นความขัดแย้งระหว่างกองกำลังของรัฐกับกองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย (ทปท.) ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) เป็นความขัดแย้งอย่างรุนแรง จากการปราบปรามแบบเหวี่ยงแห และ มาตรการในการกำจัดแบบตัดรากถอนโคนและการทารุณกรรมของฝ่ายรัฐบาลที่เรียกว่า “ถังแดง” และการตัดใบหูของศพเพื่อแลกกับเงินรางวัลของกองกำลังพลเรือน ตำรวจ ทหาร ที่เกิดขึ้นเพื่อปราบปรามผู้ที่มีความเห็นขัดแย้งกับรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยเฉพาะ ก่อนที่จะมีนโยบายการเมืองนำการทหารตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 66/2523 สมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท ์เป็นนายกรัฐมนตรี

เรื่องราวเหล่านี้จึงปรากฏอยู่ในงานเขียนของเขา โดยเฉพาะเรื่องสั้น “สะพานขาด” และ “บ้านเกิด” เป็นต้น

          นอกจากนั้นยังมีเรื่อง “ยามเช้า” และ “ในห้วงน้ำกว้าง” เป็นต้น ผลงานด้านกวีบทแรก “ความจริงที่เป็นไป” ตีพิมพ์ใน”สยามใหม่” ขณะเรียนชั้นมัธยมต้น พ.ศ.2523 ขณะเรียนชั้นมัธยมปลาย พ.ศ.2527 เป็นสมาชิกยุคก่อตั้งของ “กลุ่มนาคร” กลุ่มทำงานด้านศิลปะวรรณกรรมอันสำคัญของภาคใต้สำหรับผลงานเรื่องสั้นเรื่องแรกได้แก่ “ดุจตะวันอันเจิดจ้า” ตีพิมพ์ในมติชนสุดสัปดาห์ เมื่อปี 2527 จากนั้นมีเรื่องสั้นตีพิมพ์ตามหน้านิตยสารสม่ำเสมอในฐานะนักเขียนที่มาแรงที่สุดในยุคนั้น 

          ปี 2532 ออกหนังสือเล่มแรกรวมบทกวี “ป่าน้ำค้าง” กับสำนักพิมพ์นาคร ซึ่งกนกพงศ์บอกว่าเป็นงานเขียนตามกระแสช่วงนั้น

ปี 2534 ออกรวมเรื่องสั้นชุดแรก “สะพานขาด” และ “คนใบเลี้ยงเดี่ยว” รวมเรื่องสั้นชุดที่ 2 ในปี 2535 ในนามสำนักพิมพ์นกสีเหลือง เกือบทุกเรื่องในสองเล่มนี้เกิดขึ้นในช่วงฝึกหัดเขียนอยู่กับธัช ธาดา

ปี 2536 ชื่อ กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ดังกระฉ่อนไปทั้งวงการ หลัง “มือมืด” ส่งรวมเรื่องสั้นทั้งสองเล่มของเขาเข้าประกวด “ซีไรต์” และกนกพงศ์ประกาศถอน จนได้ชื่อเป็น “นักเขียนขบถ” และ “เด็กก้าวร้าว”

          ประเด็นร้อนนี้ กนกพงศ์ให้สัมภาษณ์ในนิตยสาร “ไรเตอร์” ฉบับส.ค.2536 ชนิดดับเครื่องชนว่า ไม่เคยปฏิเสธ “ซีไรต์”!

“ผมพร้อมจะส่งก็ต่อเมื่อผมรู้สึกว่างานของผมดีหรือมีค่าพอที่จะคู่ควรกับรางวัล อย่างน้อยก็อยู่ในขั้นที่ไม่ทำให้รางวัลตกต่ำลง และผมมี “ใจ” ที่จะส่ง”

สำหรับทำเนียบเรื่องสั้นซีไรต์ในปี 2536 นั้น ผู้ที่ได้รับรางวัล คือ “ศิลา โคมฉาย” จากรวมเรื่องสั้น “ครอบครัวกลางถนน” 

ในปี 2539 ซีไรต์เวียนกลับมาถึงรอบเรื่องสั้น กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ก็ถูกจับตาอีกครั้ง เมื่อสำนักพิมพ์นาครส่งรวมเรื่องสั้นชุดที่ 3 “แผ่นดินอื่น” ของเขาเข้าประกวดและคว้ารางวัล “ซีไรต์” ไปในที่สุด

          หลังจากได้รับรางวัลใหญ่สุดของประเทศ กนกพงศ์รับไม้เป็นบรรณาธิการนิตยสาร “ไรเตอร์” ต่อจากเพื่อนนักเขียนหนุ่ม ขจรฤทธิ์ รักษา โดยที่ยังใช้ชีวิตเขียนหนังสือในหมู่บ้านเชิงเขาหลวง อ.พรหมคีรี จ.นครศรีธรรมราช

          ในช่วงนี้ กนกพงศ์มีผลงานออกมา 3 เล่ม คือ ความเรียงเชิงบันทึกทัศนะ “บันทึกจากหุบเขาฝนโปรยไพร” (2544) และเรื่องเล่าเชิงบันทึกทัศนะ “ยามเช้าของชีวิต (บันทึกจากหุบเขาฝนโปรยไพร ขบวน 2)” (2546) และรวมเรื่องสั้นชุดที่ 4 “โลกหมุนรอบตัวเอง” (2548) 

หลังที่รวมเรื่องสั้นชุดที่ 4 “โลกหมุนรอบตัวเอง” พิมพ์ครั้งแรกในเดือนตุลาคม ปี 2548 อีกเกือบ 4 เดือนหลังจากนั้น พิษไข้หวัดใหญ่ก็พรากกนกพงศ์ไปจากโลกวรรณกรรมในเช้าวันมาฆบูชา 13 กุมภาพันธ์ 2548  หลังเริ่มต้นชีวิตในวัย 40 ได้เพียง 4 วัน

หนังสือรวมเรื่องสั้น “แผ่นดินอื่น” ของกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ของประเทศไทยประจำปี พ.ศ. 2539

 หนังสือรวมเรื่องสั้น “แผ่นดินอื่น” ประกอบด้วยเรื่องสั้น 8 เรื่อง ที่สะท้อนปัญหาของชีวิตและวัฒนธรรมท้องถิ่น ทั้งในระดับปัจเจกบุคคล ครอบครัว และสังคมนำเสนอชีวิตหลากหลายด้วยแนวธรมชาตินิยม สะท้อนความคิด ความเชื่อ คุณค่าและคตินิยมพื้นถิ่นอย่างลึกซึ้งและแหลมคม ให้เห็นว่า แม้ในสังคมที่ต่างวัฒนธรรม ต่างความเชื่อ มนุษย์ก็สามารถอยู่ร่วมกันได้ด้วยไมตรีสัมพันธ์

 กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ดำเนินเรื่องด้วยกลวิธีการเขียนที่ดึงดูดความสนใจของผู้อ่านให้ใคร่รู้ ใคร่ติดตาม และนำไปสู่จุดหมายที่เป็นเอกภพ โดยไม่ละเลยที่จะสอดแทรกปัญหาและแง่มุมของชีวิต ทั้งปัญหาภายในจิตใจและปัญหาของปัจจัยภายนอก บันทึกความขัดแย้งาของสังคมในอดีต ทั้งในแง่การเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม รวมถึงปัญหาของสังคมร่วมสมัย คือการเผชิญหน้ากันระหว่างพัฒนาการของเมืองกับคุณค่าด้านมนุษยธรรม

 เรื่องสั้นขนาดยาวใน “แผ่นดินอื่น” มีคุณสมบัติของเรื่องสั้นที่ทรงคุณค่าทางวรรณศิลป์   การนำเสนอละเอียด ประณีตและแยบยล เปิดโอกาสให้ผู้อ่านได้ใช้จินตนาการที่เป็นอิสระ ผู้เขียนใช้ภาษาถ่ายทอดเหตุการณ์และความรู้สึกได้งดงามเข้มข้นด้วยอารมณ์สะเทือนใจ

ผลงานนักเขียน

แผ่นดินอื่น

สะพานขาด

อ้างอิง

http://oknation.nationtv.tv/blog/writerdao/2007/07/03/entry-1

https://readery.co/9789749426487

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น